การรำฉุยฉายพราหมณ์

โดย... จันทิมา แจ่มจำรัส

รำฉุยฉายพราหมณ์ 



รำฉุยฉายพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการร่ายรำที่งดงามของตัวละครประเภทพระ จากบทพระราชนิพนธ์เบิกโรงดึกดำบรรพ์ เรื่องพระคเณศเสียงา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า ปรศุรามเจ้าแห่งพราหมณ์ทะนงตัวว่าเป็นที่โปรดปรานของพระอิศวร คิดจะเข้าเฝ้าในโอกาสที่ไม่สมควรพระคเณศได้ห้ามปราม ในที่สุดเกิดการวิวาท ปรศุราม ขว้างขวานโดนงาซ้ายพระคเณศหักสะบั้นไป พระอุมากริ้วปรศุรามจึงสาปให้หมดกำลังล้มกลิ้งดั่งท่อนไม้พระนารายณ์ทรงเล็งเห็นและเกรงว่าคณะพราหมณ์จะขาดผู้ปกป้อง อีกทั้งทรงทราบว่าพระอุมา ทรงเมตตาต่อเด็ก จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์น้อย ซึ่งเป็นปฐมเหตุให้เกิดการรำฉุยฉายพราหมณ์ขึ้น เนื้อเรื่องต่อไปพระอุมาประทานพรให้พราหมณ์ และสามารถแก้ไขคำสาปให้กลับกลายเป็นดีได้ในที่สุด 

การรำฉุยฉายพราหมณ์มีกำเนิดขึ้นในครั้งนั้น และเชื่อกันว่าเป็นศิลปะการร่ายรำที่งดงาม เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ลีลาท่ารำนั้นเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) สืบทอดผ่านมา แต่รูปแบบท่าร่ายรำในปัจจุบันของกรมศิลปากร เป็นผลงานการปรับปรุงของนางลมุล ยมะคุปต์ อดีตผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร โดยเป็นลีลาท่ารำของตัวพระที่มีลักษณะของความเป็นหนุ่มน้อยที่มีความงดงามและท่าที่นวยนาดกรีดกราย

โอกาสที่ใช้แสดง ใช้เป็นการรำเบิกโรงและการแสดงในงานเบ็ดเตล็ดทั่วไป

ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์บรรเลง
การบรรเลงดนตรีในเพลงฉุยฉาย 
ฉุยฉายเป็นเพลงในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมการร้องเพลงฉุยฉาย ใช้ดนตรีรับ ๑ - ๒ เที่ยวทุกๆท่อน แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่รับเพียงเที่ยวเดียว ตามปกติเพลงฉุยฉายจะมีเพลง ๒ เพลงรวมอยู่ด้วยกัน คือเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี โดยที่ในตอนแรกจะร้องเพลงฉุยฉายก่อน ร้องหมดท่อนหนึ่งก็มีปี่เป่าเลียนทำนอง และเสียงร้องเพียงชิ้นเดียวก่อน แล้วจึงบรรเลงรับต่อด้วยเพลงแม่ศรีติดต่อกันไป การที่ต้องร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรีติดต่อกันนั้น เพราะถือว่า เพลงฉุยฉายเป็นเพลงช้า เพลงแม่ศรีเป็นเพลงเร็วซึ่งเป็นเพลง ๒ ชั้น เรียกตามหน้าทับว่า "สองไม้" การบรรเลงดนตรีจะเริ่มด้วยเพลงรัว ร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี จบด้วยเพลงเร็ว - ลา ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมโดยทั่วไป
โดยมีบทร้องดังนี้

...ปี่พาทย์ทำเพลงรัว 
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย
ช่างงามขำช่างรำโยกย้าย
สะเอวแสนอ่อนอรชรช่วงกาย
วิจิตรยิ่งลายที่คนประดิษฐ์
สองเนตรคมขำแสงดำมันขลับ
ชม้อยเนตรจับช่างสวยสุดพิศ

สุดสวยเอย
ยิ่งพิศยิ่งเพลินเชิญให้งงงวย
งามหัตถ์งามกรช่างอ่อนระทวย
ช่างนาดช่างนวยสวยยั่วนัยนา
ทั้งหัตถ์ทั้งกรก็ฟ้อนถูกแบบ
ดูยลดูแยบสวยยิ่งเทวา

ร้องแม่ศรี
น่าชมเอย น่าชมเจ้าพราหมณ์
ดูทั่วตัวงาม ไม่ทรามจนนิด
ดูผุดดูผ่อง เหมือนทองทาติด
ยิ่งเพ่งยิ่งพิศ ยิ่งคิดชมเอย

น่ารักเอย น่ารักดรุณ
เหมือนแรกจะรุ่น จะรู้เดียงสา
เจ้ายิ้มเจ้าแย้ม แก้มเหมือนมาลา
จ่อจิตติดตา เสียจริงเจ้าเอย
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว-ลา

หมายเหตุ การรำฉุยฉายพราหมณ์นี้สามารถตัดทอนให้สั้นลงได้ตามความเหมาะสม เช่น ร้องฉุยฉายบทแรกต่อด้วยแม่ศรีบทใดบทหนึ่ง
เนื้อร้องในหนังสืออธิบายนาฏศิลป์ไทยของนายธนิต อยู่โพธิ์ ในบทสุดสวยเอย มีที่แตกต่างจากปัจจุบัน คือใช้ว่า "งามหัตถ์งามกรช่างฟ้อนระทวย"

การแต่งกายของผู้แสดงนั้น แต่งยืนเครื่องพระสีขาว สวมกระบังหน้า ไว้ผมมวย มีเกี้ยวครอบ ความยาวของชุดการแสดงนั้นแตกต่างกัน คือ ฉุยฉายพราหมณ์แบบเต็ม ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที ฉุยฉายพราหมณ์แบบตัดใช้เวลาแสดงประมาณ ๗ นาที




รำฉุยฉายเบญกายแปลง 



เป็นลีลาการร่ายรำของตัวนางเบญกาย บุตรีของพิเภก พญายักษ์ ซึ่งเป็นน้องของทศกัณฐ์ ฉะนั้นเบญกายจึงมีศักดิ์เป็นหลานของทศกัณฐ์ เมื่อพิเภกถูกขับไล่จากลงกา นางก็หมดอำนาจวาสนา ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์วางอุบายที่จะล่อลวงพระรามว่านางสีดาตายเสียแล้ว จึงใช้ให้เบญกายแปลงเป็นสีดา เบญกายจำเป็นต้องรับอาสาด้วยเกรงภัยที่จะตกแก่ตนและแม่ เบญกายไม่เคยเห็นว่าสีดามีรูปโฉมอย่างไร จึงทูลขออนุญาตไปดูเสียก่อน เมื่อกลับมาจากอุทยานท้ายกรุงลงกาจึงแปลงกายเป็นสีดา ด้วยเหตุนี้จึงให้กำเนิดชุดนาฏศิลป์ที่งดงามคือฉุยฉายเบญกาย กระบวนลีลาท่ารำแฝงไว้ด้วยความหมายว่า แม้ใครได้เห็นรูปที่แปลงนี้จะต้องหลงใหลในความงดงาม ประดุจต้องศรปักอก 

บทร้องประกอบการรำฉุยฉายเบญกายนี้ ปรากฎอยู่ในบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ เป็นครั้งแรก ในชุดที่เรียกว่า ตับนางลอย ต่อมาจึงแพร่หลายนำไปประกอบการแสดงโขน ชุดนางลอย ในฉบับอื่น ๆ ทุกครั้งกระบวนลีลาท่ารำสันนิษฐานว่า หม่อมครูท่านต่าง ๆ ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงค์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและถ่ายทอดสืบมายังครู อาจารย์ท่านต่าง ๆ อาทิ นางเฉลย ศุขะวนิช สืบทอดมาจากหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา นางสาวจำเรียง พุทธประดับ สืบทอดมาจากหม่อมครู ศุภลักษณ์ (ต่วน ภัทรนาวิก) ซึ่งมีความงดงามวิจิตรบรรจงทัดเทียมกัน คือ เป็นลีลาท่ารำของตัวนางเบญกายที่แปลงกายเป็นนางสีดาขึ้นเฝ้าทศกัณฐ์เพื่อให้ดูว่าตนแปลงได้เหมือนสีดาเพียงไร 
ลักษณะท่ารำแสดงความภาคภูมิใจยั่วยวนด้วยจริตมารยา
ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์บรรเลง โดยมีบทร้องดังนี้

ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย
จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย
ละเมียดละม้ายสีดานงลักษณ์
ถึงพระรามเห็นทรามวัย
จะฉงนพระทัยให้อะเหลื่ออะหลัก

งามนักเอย
ใครเห็นพิมพ์พักตร์ก็จะรักจะใคร่
หลับก็จะฝันครั้นตื่นก็จะคิด
อยากเห็นอีกสักนิดให้ชื่นใจ
งามคมดุจคมศรชัย
ถูกนอกทะลุในให้เจ็บอุรา

ร้องแม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีราษศรี
แม่แปลงอินทรีย์ เป็นแม่ศรีสีดา
ทศพักตร์มลักเห็น จะตื่นจะเต้นในวิญญาณ์
เหมือนล้อเล่นให้เป็นบ้า ระอาเจ้าแม่ศรีเอย

อรชรเอย อรชรอ้อนแอ้น
เอวขาแขนแมน แม้นเหมือนกินรี
ระทวยนวยนาด วิลาสจรลี
ขึ้นปราสาทมณี เฝ้าพระปิตุลาเอย
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา

หมายเหตุ อาจตัดทอนได้ตามความเหมาะสม โดยใช้บทฉุยฉายบทแรกและแม่ศรีบทใดบทหนึ่งเช่นเดียวกับฉุยฉายพราหมณ์
การแต่งกาย แต่งยืนเป็นเครื่องนาง สวมมงกุฎกษัตริย์ ความยาวของชุดการแสดงนั้น ฉุยฉายเบญกายแบบเต็มใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๐ นาที ฉุยฉายเบญจกายแบบตัดใช้เวลาแสดงประมาณ ๗ นาที

การรำ (สี่ภาค)

โดย...จันทิมา แจ่มจำรัส

ภาคเหนือ


จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่า มีทรัพยากรมากมาย มีอากาศหนาวเย็น ประชากรมีอุปนิสัยเยือกเย็น นุ่มนวล งดงาม รวมทั้งกิริยา การพูดจา มีสำเนียงน่าฟัง จึงมีอิทธิพลทำให้เพลงดนตรีและการแสดง มีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ นุ่มนวล ตามไปด้วย การแสดงของภาคเหนือเรียกว่า ฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น ภาคเหนือนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ

นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง) ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น

ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือ นอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)เป็นต้น


ฟ้อนสาวไหม



ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนพื้นเมืองที่เลียนแบบมาจากการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนรำแบบเก่า เป็นท่าหนึ่งของฟ้อนเจิงซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับการฟ้อนดาบ ลีลาการฟ้อนเป็นจังหวะที่คล่องแคล่วและรวดเร็ว (สะดุดเป็นช่วง ๆ เหมือนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก)

ประมาณปี พ.ศ. 2500 คุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ได้คิดท่ารำขึ้นมาโดยอยู่ภายใต้การแนะนำของบิดา ท่ารำนี้ได้เน้นถึงการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและนุ่มนวล ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เส้นไหมพันกัน
ในปี พ.ศ. 2507 คุณพลอยศรี สรรพศรี ช่างฟ้อนเก่าในวังของเจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย (เจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ร่วมกับคุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ได้ขัดเกลาท่ารำขึ้นใหม่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คณะอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้คิดท่ารำขึ้นมาเป็นแบบฉบับของวิทยาลัยเอง

ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมนำมาแสดง จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมา คณะครูนาฎศิลป์จึงได้เลือกสรรโดยใช้เพลง "ซอปั่นฝ้าย" ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับท่ารำ การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้




ฟ้อนผาง 



เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีมาแต่โบราณ เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการฟ้อนดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้บ แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดง ต่อมานายเจริญ จันทร์เพื่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ดำริให้คณะครูอาจารย์หมวดวิชานาฏศิลป์พื้นเมืองเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายมานพ ยาระณะ ศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดท่าฟ้อนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ารำโดยมีนายปรีชา งามระเบียบอาจารย์ 2 ระดับ 7รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่(ฝ่ายกิจกรรม) เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์ท่ารำ 

การแต่งกายและทำนองเพลง 
ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบชาวไทยลื้อ สวมเสื้อป้ายทับข้าง เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อปั๊ดข้าง” ขลิบริมด้วยผ้าหลากสีเป็นริ้ว นุ่งผ้าซิ่นเป็นริ้วลายขวาง ประดับด้วยแผ่นเงิน รัดเข็มขัดเงินเส้นใหญ่ ติดพู่แผงเงิน ใส่ต่างหูเงินและสวมกำไลข้อมือเงิน
สำหรับทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงชุดฟ้อนผางให้ชื่อว่า “เพลงฟ้อนผาง” แต่งโดยนายรักเกียรติ ปัญญายศ อาจารย์ 3 ระดับ 8 หมวดวิชาเครื่องสายไทย 
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่




ฟ้อนแพน



ฟ้อนแฟนหรือลาวแพนซึ่งเป็นชื่อเพลงดนตรีไทยในจำพวกเพลงเดี่ยว ซึ่งนักดนตรีใช้เป็นเพลงสำหรับเดี่ยวอวดฝีมือในทางดุริยางคศิลป์เช่นเดียวกับเพลงเดี่ยวอื่นๆ แต่เดี่ยวลาวแพนนี้มีเครื่องดนตรีเหมาะสมแก่ทำนองจริง ๆ อยู่เพียง 2 อย่างคือจะเข้และปี่ในเท่านั้น ส่วนเครื่องดนตรีอื่นก็ทำได้น่าฟังเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีเสน่ห์เท่าจะเข้และปี่ใน เพลงนี้บางทีเรียกกันว่า "ลาวแคน"

การประดิษฐ์ท่ารำที่พบหลักฐานนำมาใช้ในละคร เรื่อง พระลอ พระราชนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนพระลอลงสรงในแม่น้ำกาหลง ท่ารำได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยเค้าท่าฟ้อนของภาคเหนือและภาคอีสานเป็นแบบอย่าง และดัดแปลงให้เหมาะสมกลมกลืนกับทำนองเพลง การฟ้อนลาวแพนในละครเรื่องพระลอเป็นการฟ้อนเดี่ยว ต่อมาจึงมีผู้นำเอาไปใช้ในการฟ้อนหมู่ โดยเอาท่าฟ้อนเดี่ยวมาดัดแปลงเพิ่มเติมแก้ไขให้เหมาะสมกับการรำหลาย ๆ คน ปัจจุบันการฟ้อนลาวแพนมีทั้งการแสดงที่เป็นหญิงล้วนและชายหญิง บางโอกาสยังเพิ่มเติมแต่งบทร้องประกอบการแสดงได้อีกด้วย




ระบำซอ



เป็นฟ้อนประดิษฐ์ของ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาของรัชกาลที่ 5 เป็นการผสมผสานการแสดงบัลเล่ต์ของทางตะวันตกกับการฟ้อนแบบพื้นเมือง ใช้การแต่งกายแบบหญิงชาวกะเหรี่ยง โดยมีความหมายว่า ชาวเขาก็มีความจงรักภักดี

ต่อพระมหากษัตริย์ไทย ใช้เพลงทางดนตรีไทย หลายเพลงประกอบการแสดง เช่น เพลงลาวจ้อย ต้อยตลิ่ง ลาวกระแต ลาวดวงดอกไม้ ลาวกระแซ มีคำร้องทำนองซอยิ้นที่แต่งเป็นคำสรรเสริญ ใช้แสดงในการสมโภชช้างเผือกของรัชกาลที่ 7ครั้งเมื่อเสด็จเลียบมณฑลพายัพ ปัจจุบันได้มีการลดจำนวนนักแสดงลงและตัดเพลงบางท่อนออกเพื่อให้เหมาะสมในการแสดงในโอกาสต่างๆ




ระบำชาวเขา



เป็นการแสดงของชาวเขาเผ่าลิซู หรือลีซอโดยเป็นระบำชุดที่ใช้แสดงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ชุดที่ใช้ได้รับการประยุกต์มาจากเครื่องแต่งกายที่ชาวเผ่าลิซูใช้ในชีวิตประจำวัน 
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคือ ขลุ่ยไม้ไผ่ สะล้อ และพิณ




ฟ้อนขันดอก



เป็นฟ้อนประดิษฐ์ใหม่ มีลีลาท่าฟ้อนได้มาจากการใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปัจจุบันฟ้อนชนิดนี้ใช้ฟ้อนในงานพิธีมงคล เพลงที่ใช้ในการประกอบการแสดงใช้เพลงกุหลาบเชียงใหม่ ลีลาท่าฟ้อนอ่อนช้อยเข้ากับความอ่อนหวานของท่วงทำนองเพลง




ฟ้อนที



คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียติมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฎศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปรแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น 

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง 

การแต่งกาย มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนาแบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหูแบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงิน เครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที 




กลองสะบัดชัย



การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศรีษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน





ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขง แบ่งตามลักษณะของสภาพความเป็นอยู่ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มีพิธีกรรมบูชาภูติผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสะท้อนให้เห็นถึงการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี 

การแสดงของภาคอีสานเรียกว่า เซิ้ง เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง สนุกสนาน เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งดึงครกดึงสาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ฟ้อนที่เป็นการแสดงคล้ายกับภาคเหนือ เช่น ฟ้อนภูไท (ผู้ไท) เป็นต้น

เซิ้งสวิง 



เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องถิ่นอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการละเล่นเพื่อส่งเสริมด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ โดยมีสวิงเป็นเครื่องมือหลัก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร จึงได้นำท่าเซิ้งศิลปะท้องถิ่นมาปรับปรุงให้เป็นท่าที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยสอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรี ที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงชุดเซิ้งสวิง ได้แก่ กลองยาว กลองแต๊ะ แคน ฆ้องโหม่ง กั๊บแก๊บ ฉิ่ง ฉาบ กรับ 

การแต่งกาย
ชาย สวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและคาดเอว มือถือตะข้อง 
หญิง นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านอีสาน ผ้ามัดหมี่มีเชิงยาวคลุมเข่า สวมเสื้อตามลักษณะผู้หญิงชาวภูไท คือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอก ประดับเหรียญโลหะสีเงิน ปัจจุบันใช้กระดุมพลาสติกสีขาวแทน ขลิบชายเสื้อ คอ ปลายแขน และขลิบผ่าอกตลอดแนวด้วยผ้าสีตัดกัน เช่น สีเขียวขลิบแดง หรือสวมเสื้อกระบอกคอปิด ผ่าอก ห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้อ สวมสร้อยคอโลหะทำด้วยเงิน ใส่กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ผมเกล้ามวยสูงไว้กลางศีรษะ ทัดดอกไม้ มือถือสวิง




เซิ้งโปงลาง



โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนอยู่ที่คอของวัวต่าง โปงทำด้วยไม้หรือโลหะ ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากของมันโตหรือพองออก ในสมัยโบราณชาวอีสานเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน โดยใช้บรรทุกสินค้าบนหลังวัว ยกเว้นวัวต่างเพราะเป็นวัวที่ใช้นำหน้าขบวนผูกโปงลางไว้ตรงกลางส่วนบนของต่าง เวลาเดินจะเอียงซ้ายทีขวาทีสลับกันไป ทำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าหัวหน้าขบวนอยู่ที่ใด และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนเพื่อป้องกันมิให้หลงทาง

ส่วนระนาดโปงลางที่ใช้เป็นดนตรีปัจจุบันนี้ พบมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกว่า "ขอลอ" หรือ "เกาะลอ" ดังเพลงล้อสำหรับเด็กว่า "หัวโปก กระโหลกแขวนคอ ตีขอลอดังไปหม่องๆ" ชื่อ "ขอลอ" ไม่ค่อยไพเราะจึงมีคนตั้งชื่อใหม่ว่า "โปงลาง" และนิยมเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม้ที่นำมาทำเป็นโปงลางที่นิยมกันได้แก่ ไม้มะหาด และไม้หมากเหลื่อม 
การเล่นทำนองดนตรีของโปงลางจะใช้ลายเดียวกันกับ แคน และพิณ ลายที่นิยมนำมาจัดท่าประกอบการฟ้อน เช่น ลายลมพัดพร้าว ลายช้างขึ้นภู ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมงภู่ตอมดอก ลายกาเต้นก้อน เป็นต้น

เครื่องแต่งกาย ใช้ผู้แสดงหญิงล้วนสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้ามัดหมี่ใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่ ผูกโบว์ตรงเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายโปงลางหรือลายอื่นๆ




เซิ้งตังหวาย 



เซิ้งตังหวาย เป็นการรำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีขอขมาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังนิยมแสดงในงานนักขัตฤษ์และต้อนรับแขกผู้มีเกียรติของภาคอีสาน ครูนาฏศิลป์พื้นเมือง วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด กรมศิลปากร ได้ประยุกต์และจัดกระบวนรำขึ้นใหม่ รวม 12 ท่า จากท่ารำแม่บทอีสาน 

โดยผู้แสดงแต่งกายห่มผ้าคาดอก นุ่งซิ่นฝ้ายมัดหมี่มีเชิง เกล้าผมสูง
เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้บรรเลงประกอบ คือ โปงลาง แคน พิณ ซอ กั๊บแก๊บ ฉิ่ง และฉาบ




เซิ้งกระหยัง 



เป็นชุดฟ้อนที่ได้แบบอย่างมาจากเซิ้งกระติบข้าว โดยเปลี่ยนจากกระติบข้าวมาเป็นกระหยัง ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกระบุงแต่มีขนาดเล็กกว่า เซิ้งกระหยัง เป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวกาฬสินธุ์ โดยอำเภอกุฉินารายณ์ได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยดัดแปลงและนำเอาท่าฟ้อนจากเซิ้งอื่นๆ เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสาละวัน ฯลฯ เข้าผสมผสานกันแล้วมาจัดกระบวนขึ้นใหม่มีอยู่ 19 ท่า ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ท่าไหว้ ท่าไท ท่าโปรยดอกไม้ ท่าขยับสะโพก ท่าจับคู่ถือกะหยัง ท่านั่งเกี้ยว ท่าสับหน่อไม้ ท่ายืนเกี้ยว ท่ารำส่าย ท่าเก็บผักหวาน ท่ากระหยังตั้งวง ท่าตัดหน้า ท่าสาละวัน ท่ากลองยาว ท่ารำวง ท่าชวนกลับ ท่าแยกวง ท่านั่ง 
ที่ได้ชื่อว่าเซิ้งกระหยังเพราะผู้ฟ้อนจะถือกระหยังเป็นส่วนประกอบในการแสดง

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ หรือน้ำเงินขลิบขาว นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และโพกศีรษะ
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานซึ่งประกอบด้วย กลองยาว ฉาบ และฉิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ใช้แคน พิณ ปี่แอ้ เป็นเครื่องดำเนินทำนอง 
อุปกรณ์การแสดง กระหยัง




เซิ้งกะโป๋ 



เป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนานเป็นหลักโดยใช้กะโป๋ หรือ กะลามะพร้าว เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเล่น เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศต่างๆ ในแถบเอชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปิน อินโดนีเซีย โดยเฉพาะมาเลเซีย มีการละเล่นซึ่งใช้กะลาประกอบอยู่ ซึ่งเมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยวชาวมาเลย์ก็จะมีการรื่นเริงและฉลองกัน บ้างก็ช่วยกันขูดมะพร้าวและตำน้ำพริก จึงได้นำเอากะลามะพร้าวมาเคาะประกอบจังหวะกันเป็นที่สนุกสนาน 

ระบำกะลาของมาเลเซียมีชื่อเป็นภาษามาเลย์ว่า "เดมปุรง" หรือแม้แต่ประเทศกัมพูชาก็มีการละเล่นที่ใช้กะลาเป็นอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เซิ้งกะโป๋คงได้แบบอย่างมาจากระบำกะลาที่นิยมเล่นกันในกัมพูชาและแถบอีสานใต้ ระบำกะลามีจังหวะเนิบนาบ จึงมีการปรับปรุงใหม่โดยใช้เพลงพื้นเมืองอีสาน และยังนำเอาเพลงพื้นเมืองของอีสานใต้มาใช้ประกอบอยู่คือเพลง เจรียงซันตรูจ

เครื่องแต่งกาย เซิ้งกะโป๋จะแบ่งผู้แสดงออกเป็น 2 ฝ่าย คือ หญิงและชาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นพื้นเมืองอีสาน สวมเสื้อแขนกระบอก เกล้าผมมวยใช้แพรมนรัดมวย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าผูกเอว
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน แต่เล่นลายพื้นเมืองของอีสานใต้คือ เจรียงซันตรูจ

เซิ้งกะโป๋ หรือ เซิ้งกะลา นี้มีผู้ประดิษฐ์จัดทำเป็นชุดฟ้อนที่แตกต่างกันออกไป เช่น
• วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จะใช้ลีลาการกระทบกะลาที่ไม่คล้ายกับระบำกะลาของอีสานใต้มากนัก และนำการละเล่นของพื้นเมืองของเด็กอีสานมาประกอบ เช่น การเดินกะโป๋ หรือ หมากกุ๊บกั๊บ ฯลฯ 
• วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด จะใช้ลีลาการกระทบกะลา ซึ่งพอจะเห็นเค้าว่าได้แบบอย่างมาจากระบำกะลาของอีสานใต้ แต่งกายเช่นเดียวกับระบำกะลา คือฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก คล้องสไบผูกชายที่เอว ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าพับทบด้านหน้า ทิ้งชายด้านหลัง 




ฟ้อนผู้ไท(ภูไท) 



เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ 

ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง 
ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง 
ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ

เครื่องแต่งกาย จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทน
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน เพลงผู้ไท เพลงเต้ยโขง เพลงแมงตับเต่า เพลงบ้งไต่ขอน เพลงลำเพลินและเพลงลำยาว




เซิ้งกระติบข้าว 



เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้ายกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่องตามฤทธิ์เหล้า

ในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำจังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร ? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว"

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ขวา
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเซิ้ง
อุปกรณ์การแสดง กระติบข้าว




หมากกั๊บแก๊บลำเพลิน



การเล่นหมากกั๊บแก๊บ เป็นการเล่นที่ไม่มีขนบตายตัว สุดแท้แต่ผู้แสดงจะมีความสามารถ แสดงออกลีลา ท่าทางที่โลดโผน เป็นที่ประทับใจสาว ๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเล่นกันเป็นคู่ ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นฝ่ายรุก อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับ แล้วผลัดเปลี่ยนกันไป ตามแต่โอกาสและปฏิภาณไหวพริบของผู้เล่น โดยอาจารย์ชุมเดช เดชภิมล แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้ผสมผสานการเล่นหมากกั๊บแก๊บ เข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน ที่ยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก๊บและลีลาของการฟ้อนลำเพลินได้อย่างสมบูรณ์แบบ 
จุดเด่นของการแสดงอยู่ที่จังหวะ ลีลาและท่วงทำนอง ของดนตรี อันสนุกสนานเร้าใจ

นาฏศิลป์ไทย :นาฏศิลป์ภาคกลาง



โดย .... จันทิมา  แจ่มจำรัส

                             เต้นกำรำเคียว
    ที่มาของภาพ   :   หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒๗๐)
             ประเภทและลักษณะของนาฏศิลป์ภาคกลาง
                   
              ท่าทางรำโทนของคณะแม่ตะเคียน  เทียนศรี  บ้านแหลมฟ้าผ่า 
                                อ.บ้านหมี่  จ.ลพบุรี
ที่มาของภาพ : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม, มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
                             รำโทน
รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งของชาวบ้านเมืองลพบุรี นิยมเล่นกันแพร่หลายในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘   เหตุที่เรียกชื่อว่ารำโทน เพราะเดิมเป็นการรำประกอบจังหวะการตี  "โทน" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักในการเล่น ภายหลังแม้ใช้เครื่องดนตรีอื่น เช่น รำมะนา ตีให้จังหวะแทนก็ยังเรียกชื่อเช่นเดิม   ผู้ที่นิยมเล่นรำโทน คือหนุ่มสาวชาวบ้าน กล่าวกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้คนต้องอพยพหนีภัยทางอากาศจากกรุงเทพฯ ไปยังชนบทตามที่ต่างๆ กัน ในภาวะสงครามนั้นยามค่ำคืนจะมืดไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากทางรัฐบาลห้ามกระทำการต่างๆ หลายอย่าง เช่น ห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุมและอื่นๆ ประชาชนเกิดความเหงาและเครียด การสนทนากันเพียงอย่างเดียวไม่สนุก จึงได้คิดเล่นรำโทนขึ้น การละเล่นชนิดนี้ชาวบ้านรู้จักและเล่นได้ทุกคน ขณะที่เล่นจะจุดตะเกียงตั้งไว้ตรงกลาง ผู้เล่นจะยืนล้อมวง  จุดประสงค์ของการเล่นคือ  เพื่อความสนุกสนาน  และเพื่อพบปะเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว 
เพลงรำโทน ที่นำมาร้องนั้นใช้วิธีจดจำสืบทอดกันมา เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องง่ายๆ เป็นเพลงสั้นๆ ไม่มีชื่อเพลงเฉพาะ  มักเรียกชื่อตามวรรคแรกของเนื้อร้อง  ไม่บอกชื่อผู้แต่ง   ใครอยากแต่งขึ้นมาใหม่ก็ได้  ไม่นิยมดัดแปลงทั้งเนื้อร้องและท่ารำ  คือจำมาอย่างไรก็ร้องและรำอย่างนั้น  บางครั้งการถ่ายทอดอาจได้มาเฉพาะเนื้อเพลง กรณีเช่นนี้ผู้เล่นจะคิดท่ารำประกอบเองตามความหมายของเนื้อเพลง เนื้อร้องมักเป็นการเกี้ยวพาราสี ปลุกใจหรือสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่หรือมาจากวรรณคดีไทย เช่น เพลงลพบุรีของเรานี่เอ๋ย   เจ็ดนาฬิกา  ใครรักใครโค้งใคร  เชื่อผู้นำของชาติ ศิลปากร ฯลฯ   จากการสำรวจพบว่า แม้เป็นเพลงเดียวกัน   หากคณะของผู้เล่นอยู่ต่างสถานที่หรือต่างท้องถิ่นกัน  ท่ารำและเนื้อเพลงก็อาจผิดแผกกันไปได้ แต่บางเพลงยังคงเหมือนกันทุกประการ อย่างไรก็ตามเพลงทุกเพลงไม่จำเป็นต้องได้จากการสืบทอดเสมอไป ผู้เล่นสามารถแต่งเนื้อร้อง  และท่ารำขึ้นเป็นปัจจุบันในขณะเล่นก็ได้
เพลงรำโทนช่วงก่อนปี พ..๒๔๘๔ เนื้อเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครในวรรรณคดี  เช่น  ไกรทอง  ลักษณวงศ์  พระศรีสุริโยทัย  แต่ที่พบมากที่สุดได้แก่  เพลงรัก หรือ  เพลงที่เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว   เช่น   ไหนเล่าดอกรัก    ยามเย็นเดินเล่นทะเลเหนือ   ว่าวน้อยที่เราเคยเล่น   เดือนจ๋าเดือน  สวยจริงหล่อจริง  จันทร์วันเพ็ญ  ฯลฯ
             ตัวอย่าง     เพลงรำโทน
                               รำแบบกรมศิลป                                          
            รำแบบ รำแบบกรมศิลป       กรมศิลป กรมศิลปากร
ร้องรำทำท่าแขนอ่อน                        รำซับรำซ้อนเอวอ่อนเป็นละเวง
                             สวยจริง หล่อจริง
            สวยจริง หล่อจริง                  ขอเชิญยอดหญิงมาเล่นรำโทน
แขนอ่อนเอนโอน (ซ้ำ)                         มาเล่นรำโทนกันตลอดไป
            เรามาช่วยกันโค้ง                   เรามาช่วยกันหนา
เรามาช่วยเล่นกีฬา                            แบบระบำของไทย (ซ้ำ)
                             จันทร์วันเพ็ญ
            จันทร์วันเพ็ญ                         กระต่ายเต้นหมอบชะเง้อ
ดวงจันทร์นั้นคือเธอ                          กระต่ายเจอก็ได้เป็นขวัญตา
            แลตะลึง                                   รำพึงเฝ้าแต่แลหา
กระต่ายน้อยคอยจันทรา (ซ้ำ)         เปรียบเหมือนว่าตัวฉันคอยเธอ
เครื่องดนตรี  เดิมใช้ "โทน" ตีในจังหวะ "ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" หรือ "ป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" ใช้โทนใบเดียว หรือหลายใบก็ได้ ต่อมานิยมใช้ "รำมะนา" แทนเพราะเสียงดังไพเราะและเร้าใจดีกว่า อาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถังน้ำมันตีให้จังหวะ แทนก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้ฉิ่งตีให้จังหวะได้อีกด้วย 
            ในบางพื้นที่   เช่น   บ้านแหลมฟ้าผ่า    ตำบลบางพึ่ง    อำเภอบ้านหมี่    จังหวัดลพบุรี   ใช้ถังน้ำมันเหล็กที่ติดอยู่กับรถจี๊บของทหารมาตีแทนโทน  และมีเครื่องประกอบจังหวะอย่างอื่นอีก  ได้แก่ ถังน้ำมันเหล็ก  ลูก ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับ เป็นต้น  สำหรับเครื่องดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี นำมาใช้ประกอบการรำโทนที่ปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย โทน  คู่ ฉิ่ง  คู่ กรับ  คู่ และฉาบเล็ก ๑คู่ 
วิธีเล่น  ผู้เล่นชายโค้งชวนหญิงออกมารำเป็นคู่ๆ  ช่วยกันร้องไปรำตามกันไปเป็นวง  นักดนตรีก็ตีโทนให้จังหวะเร้าใจ เพลงหนึ่งๆ จะร้องซ้ำ ๓ - ๔ เที่ยวก็จะเปลี่ยนเพลงต่อไป การรำไม่มีท่ารำตายตัวมักเป็นการใส่ท่าตามเนื้อร้อง เปลี่ยนคู่รำกันตามใจ ผู้มาดูอาจช่วยตบมือและร้องตามไปด้วย
            การแต่งกาย   รำโทนแต่เดิมสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นการแต่งกายแบบพื้นบ้าน  พบว่าการเล่นรำโทนได้รับความนิยมมากที่สุด   นอกจากร้องรำในหมู่ชาวบ้านแล้ว   ทหารและข้าราชการก็นิยมเล่น  โดยร้องเล่นกับชาวบ้านด้วยพบว่าทหารในจังหวัดสระบุรีได้ร่วมเล่นรำโทนกับหญิงสาวชาวบ้าน…”
            จะเห็นได้ว่าการเล่นรำโทนยังไม่มีระเบียบแบบแผนของการแต่งกายเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการ  ร่วมเล่น”   เพื่อความบันเทิงไม่ใช่เพื่อการแสดงเช่นการแสดงชนิดอื่นๆ 
            ชายนิยมแบบสากลประกอบด้วยหมวก  เสื้อชั้นนอกคอเปิด  หรือคอปิด  ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นในคอปก  มีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย กางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าถุงเท้า
โอกาสที่แสดง     ไม่มีโอกาสที่แน่นอน   ชาวบ้านนึกอยากจะเล่นเมื่อใดก็ชวนกันมาเล่นที่ลานบ้านคนใดคนหนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนเท่านั้นมักเริ่มเล่นตอนหัวค่ำ เล่นกันไปเรื่อยๆ จนไม่มีคนเล่นหรือง่วงนอนกันมากแล้วก็จะเลิกเล่น แยกย้ายกันกลับบ้านของตน เล่นได้ทุกโอกาส  เพื่อการพักผ่อน  คลายความเครียด  และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่ม-สาว   ไม่นิยมเล่นในงานศพ
  
    
                                        รำวงมาตรฐาน
    ที่มาของภาพ  :  หนังสือวิพิธทัศนา สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒๒๒๔)
                            รำวง
วิวัฒนาการมาจากรำโทน  ซึ่งเป็นการเล่นพื้นเมืองของไทยที่นิยมเล่นกันในฤดูเทศกาล เฉพาะท้องถิ่นในบางจังหวัด   การเล่นรำโทนจะมีผู้รำทั้งชายและหญิงรำกันเป็นคู่ๆ  รอบๆ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้หรือไม่ก็รำเป็นวงกลม  นอกจากจะมีการร้องเพลงประกอบการรำแล้ว    ยังมีเครื่องดนตรีที่ตีประกอบจังหวะหรือโทน ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะจึงเรียกกันว่ารำโทน  ในปี  ..๒๔๘๓    มีผู้นำการเล่นรำโทนในท้องถิ่นอื่นๆ    และเล่นกันได้ทุกเวลาไม่เฉพาะในฤดูกาล   จึงมีการเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ 
            ในสมัยนั้น  จอมพล  พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี  พิจารณาเห็นว่าคนไทยนิยมเล่น       รำโทนกันอย่างแพร่หลาย  ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง  ลีลาท่ารำ    และการแต่งกาย  จะทำให้รำโทนเป็นการเล่นที่น่านิยมยิ่งขึ้น  ดังนั้นรัฐบาลในสมัยจอมพล .พิบูลสงคราม  จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงการเล่นรำโทนขึ้นใหม่ ในปี ..๒๔๘๗  กรมศิลปากรได้แต่งบทร้องเพิ่มขึ้น  เพลง คือ  เพลงงามแสงเดือน  เพลงชาวไทย   เพลงรำซิมารำ  และเพลงคืนเดือนหงาย  ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม   ภริยาท่านนายกรัฐมนตรี จอมพล .พิบูลสงคราม  ได้แต่งบทร้องให้อีก๖ เพลง คือ เพลงบูชานักรบ  เพลงหญิงไทยใจงาม  เพลงดอกไม้ของชาติ  เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า  และเพลงยอดชายใจหาญ   เพื่อให้เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทางราชการจึงได้เปลี่ยนจากการเรียกรำโทนมาเป็น “รำวง”  เพราะผู้เล่นหญิงชายรำร่วมกันและการเล่นก็รำเป็นคู่ๆ  เคลื่อนย้ายเวียนไปเป็นวงกลม  เพลงที่แต่งทำนองขึ้นใหม่   นอกจากจะใช้โทนตีประกอบการเล่นตามเดิมแล้ว   ยังมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ และบางเพลงก็ใช้วงดนตรีสากลบรรเลงประกอบด้วย นับว่าเพลงรำวงที่แต่งขึ้นใหม่มีความสมบูรณ์ทั้งเนื้อร้องและดนตรีที่บรรเลงทำนองประกอบการร้อง
            เพลงร้องที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยนั้น  ได้มีการกำหนดท่ารำของแต่ละเพลงไว้โดยเฉพาะ เช่น  เพลงงามแสงเดือน ใช้ท่าสอดสร้อยมาลาเป็นท่ารำ  เพลงชาวไทยใช้ท่าชักแป้งผัดหน้า เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญใช้ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ เป็นต้น  เพลงรำวงที่กำหนดท่ารำโดยใช้ท่ารำแม่บทดังกล่าวนี้เรียกว่า รำวงมาตรฐาน   นิยมในงานรื่นเริงแทนการเต้นรำ  และยังจัดเป็นชุดนาฏศิลป์ไทยที่นำไปแสดงเพื่อความบันเทิงได้อีกด้วย
            ส่วนเพลงรำโทนที่เคยใช้ร้องมาแต่เดิม  เช่น  เพลงหล่อจริงนะดารา  เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด   เพลงยวนยาเหล  เพลงตามองตา  ฯลฯ  เมื่อเปลี่ยนมาใช้ดนตรีบรรเลงประกอบในเวลาร้อง  ลีลา  ท่ารำก็ยังคงใช้ท่ารำแบบเดิม  เพราะมิได้กำหนดท่ารำมาตรฐานแบบท่ารำแม่บทไว้ในเพลงเหล่านี้
            เมื่อปรับปรุงเพลงร้องทำนองดนตรีและลีลาท่ารำ  รวมทั้งเปลี่ยนชื่อจากรำโทนมาเป็นรำวงแล้ว  ก็กำหนดการแต่งกายของผู้เล่นรำวงให้เป็นระเบียบ  เช่น  ผู้ชายแต่งชุดสากล  ผู้หญิงแต่งชุดเสื้อกระโปรง    หรือชุดไทยพระราชนิยม  ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม  มีผ้าคาดเอว   ผู้หญิงแต่งชุดไทย  เป็นต้น
            การเล่นรำวง  นอกจากจะเป็นที่นิยมของชาวไทยแล้ว  ชาวต่างชาติก็ยังนิยมเล่นรำวงด้วยเพลง     รำวงที่ต่างชาติรู้จักและมักจะร้องกันได้  คือ  เพลงลอยกระทง  การเล่นรำวงจะเล่นได้ทุกโอกาสที่มีงานรื่นเริงหรือมีการแสดงนาฏศิลป์ไทย ในการนำนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ต่างประเทศในบางครั้ง  เมื่อจบการแสดงแล้ว    จะมีการเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติ  ขึ้นมาร่วมรำวงกับผู้แสดงชายและหญิงของคณะนาฏศิลป์ไทย   นับเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างคณะนาฏศิลป์ไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาชมการแสดง  อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะการเล่นรำวงให้แพร่หลายไปในนานาประเทศอีกด้วย
                       รำกลองยาว หรือ เถิดเทิง
      ที่มาของภาพ  :  หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒๗๒)
                          รำกลองยาว 
ประเพณีการเล่นเทิงบ้องกลองยาว  หรือ เถิดเทิง  มีผู้เล่าให้ฟังเป็นเชิงสันนิษฐานว่าเป็นของพม่า    นิยมเล่นกันมาก่อนเมื่อครั้งที่พม่ามาทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรี    หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เวลาพักรบพวกทหารพม่าก็จะเล่นสนุกสนานกันด้วยการเล่นต่างๆ  ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น  “กลองยาว”  พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง  
            เมื่อชาวไทยเห็นว่ารำกลองยาวเป็นการเล่นที่สนุกสนาน   และเล่นได้ง่ายก็นิยมเล่นกันไปแทบ ทุกบ้านทุกเมืองมาจนทุกวันนี้
เครื่องดนตรี     กลองยาว   กรับ   ฉิ่ง  ฉาบ    โหม่ง
การแต่งกาย    
.  ชาย   นุ่งกางเกงขายาวครึ่งแข้ง  สวมเสื้อคอกลม  แขนสั้น  เหนือศอก   มีผ้าโพกศีรษะและผ้าคาดเอว
.  หญิง  นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงยาวกรอมเท้า  สวมเสื้อทรงกระบอกคอปิด  ผ่าอกหน้า ห่มสไบทับเสื้อ  คาดเข็มขัดทับเสื้อ   ใส่สร้อยคอและต่างหู   ปล่อยผมทัดดอกไม้
โอกาสและวิธีการเล่น  นิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง           เดินเคลื่อนขบวน  เช่น  ในงานแห่นาค   แห่พระ  และแห่กฐิน  เป็นต้น  คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไป  รำด้วยก็ได้   เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน  เคลื่อนไปกับขบวน  พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ  การเล่นเถิดเทิงกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ  โดยกำหนดให้มีกลองรำ กลองยืนด้วย
            กลองรำ  หมายถึง  ผู้ที่แสดงลวดลายในการร่ายรำ  กลองยืน  หมายถึง  ผู้ตีกลองยืนให้จังหวะในการรำ   การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว   ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน  คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม  จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ พวกตีประกอบจังหวะ    จะร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย  เช่น
            “มาแล้วโหวย  มาแล้ววา  มาแต่ของเขา ของเราไม่มา  ตะละล้า
            “ต้อนเข้าไว้  ต้อนเขาไว้  เอาไปบ้านเรา  พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่าเอาไปหุงข้าวให้พวกเรากินตะละล้า
            “ใครมีมะกรูด  มาแลกมะนาว  ใครมีลูกสาว  มาแลกลูกเขย  เอาวะ  เอาเหวย  ลูกเขยกลองยาว  ตะละล้า
            ที่เรียกการเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น  คงเรียกกันตามเสียงกลองยาว  กล่าวคือมีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ  หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด – เทิง – บ้อง – เทิง – บ้อง” เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง  หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป  เพื่อให้ต่างกับการเล่นอื่น
                                  รำเหย่อย
    ที่มาของภาพ   :  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  เล่มที่ ๑๓ (๒๕๔๙, ๑๙๗)
                          รำเหย่อย 
รำเหย่อย เป็นการเล่นพื้นบ้านของหมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  นิยมเล่นในฤดูกาลต่างๆ เฉพาะในบางท้องถิ่นนอกตัวจังหวัดกาญจนบุรี เป็นการเล่นร้องรำเกี้ยวพาราสีหยอกเย้าโต้ตอบกันระหว่างชายกับหญิง
การแสดงรำเหย่อย  เริ่มด้วยประโคมกลองยาว  ร่วมกับเครื่องประกอบจังหวะ  ได้แก่ ฉิ่ง  ฉาบ  กรับ  โหม่ง  และปี่  จังหวะตีกลองยาวเปลี่ยนหลากหลายลูก  เมื่อนักดนตรีประโคมกลองจบลง ผู้รำฝ่ายชายร้องเชิญชวนฝ่ายหญิงให้เล่นรำพาดผ้า    แล้วนำผ้าคล้องไหล่ไปพาดบ่าฝ่ายหญิงออกมารำคู่กันทีละคู่ผลัดเปลี่ยนกันไปจนครบจำนวนคู่ในหมู่ผู้แสดง ทั้งสองฝ่ายด้นกลอนสดร้องโต้ตอบกันเข้าจังหวะดนตรี
            ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคกลาง   ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนต่างสีกัน  สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเหนือศอก   มีผ้าคาดเอวและพาดไหล่   หญิงนุ่งผ้าพิมพ์ลายโจงกระเบนหลากสีกัน   สวมเสื้อคอกลมแขนยาว   ห่มสไบทับเสื้อ   มีเครื่องประดับได้แก่   เข็มขัด   สร้อยคอ  สร้อยข้อมือ
                               เต้นกำรำเคียว
    ที่มาของภาพ   :   หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒๗๐)

                          เต้นกำรำเคียว 


เต้นกำรำเคียว     เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์     นิยมเล่นตามท้องนาในฤดูกาลลงแขกเกี่ยวข้าว    ร้องเล่นกันเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน      ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อย    เมื่อปี พ..๒๕๐๔ ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียว จากชาวบ้านตำบลย่านมัทรี  อำเภอพยุหคีรี    จังหวัดนครสวรรค์    ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่น    เพื่อให้เหมาะสมกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้นายมนตรี ตราโมท  ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทยกรมศิลปากร  และศิลปินแห่งชาติ    แต่งทำนองเพลงประกอบการแสดงตอนต้น   ก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบบทร้อง   ผู้แสดงทั้งชายและหญิงมือขวาถือเคียว    มือซ้ายกำรวงข้าว    ทำท่าตามกระบวนเพลง  ร้องเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน    บทร้องมีอยู่  ๑๑  บท   คือ   บทมา   ไป   เดิน  รำ   ร่อน  บิน  ยัก  ย่อง  ย่าง แถ ถอง และเพลงในกระบวนนี้ผู้เล่น  อาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับรับกันด้วยความสนุกสนาน บางครั้งในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ  ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนำและตอนจบ

โอกาสที่เล่น  เล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนามักมีการเอาแรงกัน โดยต่างฝ่ายต่างไปช่วยกัน     เกี่ยวข้าว   จะไม่มีการว่าจ้างกัน   ขณะที่มีการเกี่ยวข้าวนั้น เขามักจะมีการร้องเพลงเกี่ยวข้าวไปด้วย โดยร้องแก้กันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง และเมื่อหยุดพักการเกี่ยวข้าวประมาณตะวันบ่ายคล้อยแล้ว  การเต้นกำรำเคียวจึงเริ่มเล่น

วิธีการเล่น  จะแบ่งผู้เล่นเป็น  ๒  ฝ่าย  คือ ฝ่ายชาย  เรียกว่า  พ่อเพลง ฝ่ายหญิง เรียกว่า แม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว     โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อ  ฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป   ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจจะเปลี่ยนไปหลายๆ คน ช่วยกัน    ร้องจนกว่าจะจบเพลง  ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็ต้องเป็นลูกคู่

การแต่งกาย   ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย  และเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมงอบ   และ  จะไม่ใส่รองเท้า

ฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอก    สีดำหรือเป็นสีพื้นก็ได้    และไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย

ดนตรีที่ใช้  ตามแบบฉบับของชาวบ้านแบบเดิมไม่มีดนตรีประกอบเพียงแต่ลูกคู่ทุกคนจะปรบมือ และร้อง เฮ้  เฮ้ว ให้เข้าจังหวะ   แต่เมื่อกรมศิลปากรนำไปดัดแปลง  ก็ใช้ระนาดเป็นเสียงดนตรีประกอบในท่าเดินเข้า-ออก

สถานที่แสดง  เดิมแสดงกลางแจ้ง  ที่บริเวณท้องนาที่เกี่ยวข้าวกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแสดงชนิดนี้มากขึ้นจึงนำมาแสดงบนเวที

จำนวนคน   แต่เดิมไม่จำกัดผู้เล่น เพียงแต่ให้ชายหญิงจับคู่กันเป็นคู่ๆ ต่อมากรมศิลปากรได้จำกัดผู้เล่นเพียง ๕ คู่   เพื่อให้ครบทำนองและเนื้อเพลง